เรื่องราวความเป็นมา

ระยะเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี


วิทยาลัยครูจันทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จันทบุรี บริเวณสวนบ้านแก้ว มีเนื้อที่ทั้งหมด 740 ไร่ และยังมีพื้นที่บริเวณตำบลแก่งหางแมว กิ่งอำเภอแก่งหางแมวอีกประมาณ 476 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาคณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรม

ความเคลื่อนไหวในการก่อตั้งวิทยาลัย และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในวิทยาลัยสรุปเป็นลำดับ ดังนี้

มีนาคม 2512 นายส่ง เหล่าสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ดำริที่จะตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นในบริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์หนองตะพอง อำเภอมะขาม บนพื้นที่จำนวน 1,224 ไร่ โดยนายสุดใจ เหล่าสุนทร อธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรขณะนั้นก็เห็นชอบด้วย

กุมภาพันธ์ 2514 นายชั้น สุวรรณทรรภ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีคนต่อมาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้จัดตั้งวิทยาลัยครูขึ้นก่อน แล้วจึงขอขยายเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาภายหลังโดยเสนอให้ใช้สถานที่หนองตะพองเหมือนเดิม

มีนาคม 2515 กรมการฝึกหัดครูได้นำบันทึกเสนอกระทรวงศึกษาธิการภายหลังการมาสำรวจสถานที่แล้ว โดยขอเปลี่ยนสถานที่ก่อตั้งวิทยาลัยครูจากหนองตะพอง มาเป็นที่ดินสวนบ้านแก้วของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีเหตุผลหลายประการคือ 1. อยู่ใกล้ตัวเมือง 2. มีบริการน้ำ-ไฟพร้อมอยู่แล้ว 3. ไม่ต้องเสียเงินปรับปรุงที่ดิน และทำถนนมากนัก เพราะมีถนนอยู่แล้ว 4. มีไม้ยืนต้น และสวนผลไม้อยู่แล้ว 5. สามารถเปิดทำการสอนได้ทันทีในปีการศึกษา 2516

8 มิถุนายน 2515 กรมการฝึกหัดครูได้รับอนุมัติให้ขอซื้อที่ดินจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในราคา 18ล้านบาท ซึ่งพระองค์ท่านก็พระราชทานให้ด้วยความเต็มพระทัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญทางด้านการศึกษาของจังหวัดและของประเทศ

ปัจจุบัน “วังสวนบ้านแก้ว” ได้กลายเป็นสถานศึกษาที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ “วิทยาลัยรำไพพรรณี” อาคารสถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สมเด็จฯ ได้พระราชทานให้กับวิทยาลัย วิทยาลัยได้ทำนุบำรุงหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นทางศิลปวัฒนธรรมสืบต่อไป

นายชัยมงคล สุวพานิช ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 1 เมื่อกรมการฝึกหัดครูได้รับพระราชทาน “วังสวนบ้านแก้ว” แล้ว นายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้ง “วิทยาลัยครูจันทบุรี” ขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2515 โดยเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) มีนายชัยมงคล สุวพานิช รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ มีอาจารย์ปฏิบัติงานทั้งหมด 27 คน การเปิดสอนครั้งแรกในระดับ ป.กศ. ชั้นปีที่ 1 จำนวน 117 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด อาคารเรียนหลังแรกได้ปรับปรุงอาคารเล้าไก่ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเดิม ให้เป็นอาคารเรียนชั่วคราว ส่วนบ้านพักของอาจารย์ก็ใช้บ้านพักของข้าราชบริพารเป็นบ้านพักของอาจารย์

ปีการศึกษา 2516 ได้สร้างอาคารเรียน 1 (อาคารคณะวิชาครุศาสตร์ปัจจุบัน) หอพักนักศึกษา 2 หลัง และบ้านพักอาจารย์ นักการภารโรงจำนวนหนึ่ง และรับนักศึกษาระดับ ป.กศ. อีก 160 คน และปีต่อมาก็ได้งบประมาณสร้างอาคารเรียน 2 อาคาร 3 หอประชุม โรงอาหารและบ้านพักอาจารย์เพิ่มเติมหลายหลัง และในปีการศึกษา 2517 นักศึกษารุ่นที่ 1 ก็สำเร็จการศึกษา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จมาพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษานับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง และในปีการศึกษา 2517 วิทยาลัยได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง)

นายประชุม มุขดี ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 2 ในปีการศึกษา 2518 กรมการฝึกหัดครูได้แต่งตั้งนายประชุม มุขดีมาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทบุรีแทนนายชัยมงคล สุวพานิช ในระหว่างที่นายประชุม มุขดี เป็นผู้อำนวยการนี้ วิทยาลัยได้ก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติม เช่น อาคารเรียน 4 อาคาร ร.ร.สาธิต อาคารสำนักงานอธิการ หอพัก บ้านพักอาจารย์และนักการภารโรง

ในด้านการเรียนการสอนนั้นได้เปิดขยายนักศึกษาระดับ ป.กศ. ชั้นสูง ในวิชาเอกต่างๆ มากขึ้น และในเดือนสิงหาคม 2519 วิทยาลัยครูจันทบุรีก็ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูพุทธศักราช 2518 และนายประชุม มุขดีได้ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทบุรีคนแรก ดังนั้นวิทยาลัยจึงขยายการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยในปีการศึกษา 2519 ได้เปิดสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีครั้งแรก เปิดสอนเพียงวิชาเอกเดียว คือ วิชาเอกคณิตศาสตร์ และในช่วงนี้ได้เปิดสอนนักศึกษาภาคต่อเนื่องในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) หลายวิชาเอก

นายสุรพล แก่นจักษ์ ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 3 ในช่วงที่อาจารย์สุรพล แก่นจักษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการ ระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2523 การพัฒนาด้านอาคารสถานที่ในระยะนี้มีน้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของประเทศ แต่ในช่วงนี้วิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก “มูลนิธิประชาธิปก” โดยวิทยาลัยใช้งบประมาณส่วนนี้ในการปรับปรุงสนามฟุตบอล

ในด้านการพัฒนาทางวิชาการนั้นได้เปิดสอนวิชาเอกต่างๆ ทั้งในระดับ ป.กศ.ชั้นสูงและระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมขึ้น และในปีการศึกษา 2520 วิทยาลัยได้เปิดสอนนักศึกษาตามโครงการอบรมครูประจำการ (อ.คป.) เป็นครั้งแรก ซึ่งในรุ่นแรกเปิดสอนทั้งหมด 6 โปรแกรม คือ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ โดยเปิดดำเนินการนอกวิทยาลัยในรูปของการเปิด “ศูนย์ฝึกอบรม” ทั้งในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

นายไพฑูรย์ เจริญพันธุวงศ์ ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 4 ในสมัยที่อาจารย์ไพฑูรย์ เจริญพันธุวงศ์ เป็นอธิการวิทยาลัย เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น มีการนำแหล่งวิชาการในท้องถิ่นมาสนับสนุนงานวิชาการของวิทยาลัย เช่น เจ้าหน้าที่สถานีทดลองยางพารา ได้เข้ามาทดลองปลูกยางในวิทยาลัย นอกจากนี้ได้เจรจากับกรมชลประทานของบประมาณ 2 ล้านเศษมาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำ สำหรับจัดทำน้ำประปาในวิทยาลัย นอกจากนี้แล้วยังได้ปรับปรุงถนนหนทางต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่าเป็นยุคที่วิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของงาน

ในด้านวิชาการนั้นได้มีการจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “การส่งเสริมสหกรณ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาชนบท” โดยได้เรียนเชิญ ฯพณฯ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นประธานในพิธีเปิด ผลการจัดประชุมสัมมนาครั้งนั้นมีผลกระตุ้นให้วิทยาลัยรำไพพรรณีสามารถขยายเปิดสอนสาขาวิชาการเกษตรและอุตสาหกรรมได้ ในระยะต่อมา

นายไพรถ เลิศพิริยกมล ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 5 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2528 ที่นายไพรถ เลิศพิริยกมลเป็นอธิการ ได้ให้การสนับสนุนผลงานทางวิชาการของอาจารย์อย่างมากมาย มีพิธีเปิด “สนามกอล์ฟ” อย่างเป็นทางการ แต่การดำเนินการต่างๆ อยู่ภายใต้การบริหารงานของชมรมกอล์ฟจันทบุรี และในสมัยนี้ได้มีการสร้างหอพักหญิงเพิ่มเติมอีก 2 หลัง

ในปีการศึกษา 2528 เมื่อได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 วิทยาลัยสามารถเปิดสอนสาขาวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากสายวิชาการศึกษา วิทยาลัยได้ขยายการเปิดสอนนักศึกษาทั้งภาคปกติและ อ.คป. ในสาขาวิชาการต่างๆ เช่น พืชศาสตร์ เทคโนโลยีการยาง คอมพิวเตอร์ พัฒนาชุมชน เป็นต้น ส่วนโครงสร้างการบริหารวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลง มีศูนย์ สำนักและคณะวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยคณะใหม่ คือ คณะวิทยาการจัดการ