เรื่องราวความเป็นมา

ระยะเป็นวิทยาลัยรำไพพรรณี

ในเดือนมีนาคม 2528 นายไพรถ เลิศพิริยกมล ก็ได้ทำหนังสือขอพระราชทานกราบบังคมทูลขอใช้พระนามของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นชื่อของวิทยาลัย และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เป็นนามของวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยรำไพพรรณี” ตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0003/3399 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2528

นายวิทยา รุ่งอดุลพิศาล ผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 6 ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อวิทยาลัยครูจันทบุรีเป็นวิทยาลัยรำไพพรรณี นายวิทยา รุ่งอดุลพิศาล ได้เป็นอธิการคนแรกของวิทยาลัยรำไพพรรณี (เป็นผู้บริหารวิทยาลัยคนที่ 6 ได้นับต่อกันมา) ในสมัยนี้ได้มีการกระตุ้นการพัฒนาผลงานทางวิชาการอย่างจริงจัง โดยจัดเป็นงบประมาณสนับสนุน และวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และในปี 2529 วิทยาลัยได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดแข่งขันกีฬาหลายประเภทในมหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ

นายโกสินทร์ รังสยาพันธ์ อธิการคนปัจจุบัน นายโกสินทร์ รังสยาพันธ์ได้รับการแต่งตั้งจากกรมการฝึกหัดครูให้ดำรงตำแหน่งอธิการตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จนกระทั่งปัจจุบัน ในระยะนี้ก็เป็นอีกระยะหนึ่งที่วิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงมากทั้งด้านบทบาทหน้าที่ และอาคารสถานที่ ด้านอาคารสถานที่มีสิ่งปลูกสร้างหลายหลัง เช่น อาคารอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการของนักศึกษาวิชาเอกการโรงแรมและท่องเที่ยว อาคารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (โดยงบประมาณของมูลนิธิประชาธิปก) ต่อเติมอาคารเกษตร และปรับปรุงอาคารวิทยาศาสตร์ สร้างอาคารหอสมุดกลางเพื่อเป็นศูนย์วิทยบริการ ต่อเติมอาคารสำนักงานอธิการ เป็นต้น

ในด้านสถานที่ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมทั้งบริเวณและถนนหนทาง มีการสร้างถนนลาดยางหลายสาย ปรับปรุงสนามกอล์ฟให้ได้มาตรฐาน และรับโอนสนามกอล์ฟมาอยู่ในความรับผิดชอบการบริหารของวิทยาลัย

ในด้านการเรียนการสอนได้ให้การสนับสนุนคณะวิชาปฏิบัติภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา โดยครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในด้านการสอน การบริการวิชาการแก่สังคม การวิจัยค้นคว้าทั้งในด้านการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ ส่วนการสนับสนุนการเขียนผลงานทางวิชาการของอาจารย์นั้นก็ได้จัดงบประมาณเป็นทุนสนับสนุนให้อาจารย์ทำผลงานทางวิชาการ และจัดหาเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซท เพื่อให้การสนับสนุนผลงานทางวิชาการของอาจารย์

นอกจากนี้แล้วในช่วงนี้วิทยาลัยยังได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาระดับกรมการฝึกหัดครู 3 ครั้ง คือ “การประชุมนำร่องเรื่องศูนย์ปฏิบัติการอุดมศึกษาในวิทยาลัยครู” “การประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการของกรมการฝึกหัดครูระยะที่ 7” และ “การประชุมปฏิบัติการภูมิปัญญาชาวบ้าน” เพื่อเสนอผลการศึกษาวิจัยของอาจารย์ผู้รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในวิทยาลัยครูและในปีการศึกษา 2533 วิทยาลัยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในกีฬาของกรมการฝึกหัดครู โดยมีนักกีฬาจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 3 พันกว่าคน

วิทยาลัยรำไพพรรณีได้รวมกลุ่มกับวิทยาลัยครูในภาคกลาง รวม 5 แห่ง อันได้แก่ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยครูเทพสตรี วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิทยาลัยรำไพพรรณี เป็น สหวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกลุ่มวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต โดยได้ใช้ชื่อว่า "สหวิทยาลัยศรีอยุธยา" และได้ใช้ชื่อของวิทยาลัยว่า "สหวิทยาลัยศรีอยุธยา วิทยาลัยรำไพพรรณี